Monday, October 29, 2007

อ.โก้ กับ สาธิตวิชาการ ครั้งที่ 2

กิจกรรมผลิตภาพยนตร์สั้น :
การเรียนรู้วรรณกรรมท้องถิ่นผ่านการผลิตสื่อโดยผู้เรียน
Short Film Production :
Studying of local literature via media making by learner
สัจจพงษ์ ญาตินิยม
Gotos69@gmail.com



“ครูเคยรู้ไหมครับ ว่าสิ่งที่ผมจะเรียน ผมต้องการมันรึเปล่า?” “ครูว่าหนูจะ ได้เอาหมอลำของครู ไปร้องเป็นอาชีพไหมค่ะ? ” “ครูเข้าใจไหมคะ หนูอายที่จะพูดอีสาน” “ขอเกรดสี่เลยครับครูครับ” “ครูไม่เข้าใจตุ้ม?” ฯลฯ นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำถามที่ผู้เรียน ถามให้ผู้เขียนตอบ ในฐานะที่เป็นครูสอนวิชาภาษาไทยเพิ่มเติม ในรายวิชาที่หลักสูตร (หมายถึง หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และหมายถึงผู้ที่คิดมันขึ้นด้วย) กำหนดให้เรียน แต่เด็กมีความปรารถนาน้อยที่จะเรียน วิชาที่ว่านี้คือวิชา “วรรณกรรมท้องถิ่น” ในความที่เป็นครูผู้ดันทุรังสูง จะตอบแบบตรง ๆ ก็ดูจะเป็นการทำร้ายจิตใจของหลักสูตร แต่ถ้าจะเออออ ไปกับผู้เรียนด้วย คงจะไม่เป็นอันเรียนอันสอน ผู้เขียนจึงต้องหาทางออกให้กับชีวิตตนเองโดยรวมหัวกับผู้เรียน ออกแบบ วิชาเรียนโดยใช้ชื่อเดิมแต่ทำวิธีการสอนไม่ซ้ำเดิม เป้าหมายคือ ลดทอนความน่าเบื่อของวิชา แต่เพิ่มประสิทธิภาพด้านทักษะ และวิธีการคิด แต่เนื้อหายังคงอยู่ โจทย์ที่หนึ่งก็เริ่มสนุกแล้วใช่ไหมครับ
ด้วยพื้นเพ ผู้เรียนเป็นเด็กกลุ่มศิลป์ ภาษาอังกฤษ –ฝรั่งเศส มัธยมศึกษาปีที่ 5 มีจำนวน กำลังพอดี 30 คน คาบเรียนแรกปฐมฤกษ์ หากถามว่าจะเรียนยังไง คงได้รับคำตอบว่า ไม่เรียนแน่ ผู้เขียนได้ออกแบบวิธีไว้ล่วงแล้ว หน้าที่ของผู้เขียนในคาบแรกนี้ ก็คือพยายามทำให้นักเรียนเห็นด้วยกับสิ่งที่จะทำ แน่นอนด้วยวัยของผู้เรียน อะไรที่ท้าทายก็มักจะสนใจ เราไม่สอบปลายภาค เราจะทำหนังสั้น จากเนื้อหาที่เรียนในภาคเรียนนี้ ผู้เรียน ๆ เริ่มสนใจตอนนี้ยังไม่คำนึงถึงความยาก – ง่าย งานนี้ ผู้เขียนใช้เครื่องมือจัดการความรู้ spa โมเดล ในการวางแผนการสอน spa ไม่ใช่ การนวดนะครับ แต่ spa คือ
1. เรื่องเล่าเร้าพลัง (Storytelling) เป็นการถอดความรู้ฝังลึกโดยการมอบหมายให้ผู้ที่มีผลงานดี หรือมีวิธีการทำงานที่ดี มาเล่าให้คนอื่นๆ ฟังว่าทำอย่างไร คนเล่าจะต้องเล่าให้สนุก น่าฟัง เร้าใจ เล่าให้เห็นการปฏิบัติ เห็นบุคคล ตัวละครในเหตุการณ์ ใช้ภาษาเชิงปฏิบัติจริง เล่าสิ่งที่ตนเองทำจริงๆ กับมือ ไม่ปรุงแต่ง ใส่สีตีไข่ เล่าเหมือนเล่านิทานให้เด็กฟัง โดยช่วงแรกเราใช้นิสิตในคณะสถาปัตยกรรม มาเป็นบุคคลต้นคิด เหตุผลที่ให้นิสิตสถาปัตยกรรมมาเร้าพลัง เพราะต้องการให้เห็นว่า แม้กระทำหนังสั้นจะไม่ใช่ เรื่องของสถาปัตยกรรม แต่ถ้าใจรัก และอาศัยความเพียร อะไรก็ทำได้
2. เพื่อนช่วยเพื่อน (Peer Assist) เชิญทีมอื่นมาแบ่งปันประสบการณ์ดีๆ (best practice) ให้เรา มาแนะ มาสอน มาบอก มาเล่าให้เราได้ฟังเพื่อจะได้นำไปประยุกต์ใช้ในกลุ่ม งานนี้เราแบ่งกลุ่มเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 15 คน แน่นอน กลุ่มอ่อน ก็ย่อมเป็นที่รังเกียจ และย่อมโคจรไปอยู่ด้วยกันแน่ ฉะนั้นกลุ่มเก่งกว่าก็ทำหน้าที่หนักกว่าอีกด้วย คือ ต้องช่วยเหลือด้านเทคนิคและเนื้อหา
3. การทบทวนหลังปฏิบัติการ หรือ การถอดบทเรียน (After Action Review : AAR) เมื่อทำงานเรื่องใดเรื่องหนึ่งเสร็จแล้ว ก็มีการมานั่งทบทวนร่วมกัน ผ่านทางการเขียนและการพูด ด้วยการตอบคำถามง่ายๆ ว่า สิ่งที่เรียนหรือทำวันนี้เพื่ออะไรหรืออยากได้อะไร ทำแล้วได้ตามที่คาดหวังไว้ไหม ทำไมถึงได้มากกว่าหรือน้อยกว่า ได้อะไรดี ๆ เพิ่มขึ้นมาบ้างและถ้าจะทำแบบนี้อีกควรปรับปรุงอย่างไร ในระยะหลังมีคนคิดการทบทวนก่อนปฏิบัติ (Before Action Review : BAR) ขึ้นมาใช้และ การทบทวนขณะปฏิบัติ (During Action Review : DAR) ตรงนี้ครับคือ คะแนนปลายภาคของผู้เรียน
ดูเป้าหมายหมายจะไกลและยากเหลือเกิน ปัญหาอยู่ที่ว่าเมื่อลงมือสอนแล้ว ครูแนบเนียนในการนำไปใช้รึเปล่า เพราะถ้านำหลัก spa ไปใช้แล้ว ทำเป็นขั้นตอนจนเด็กจับพิรุธ มันก็ไม่ต่างกับรูปแบบการสอนเดิม ๆ ครับ พอใกล้จะปลายภาค หลังจากที่เรียนในห้องปกติแล้ว เสาร์-อาทิตย์ ผู้เรียนก็ชวนครูมาบันทึกภาพ บ้างก็มานั่งตัดต่อวิดีโอกันที่โรงเรียน สิ่งที่ได้เกินคาดคือ จากนักเรียนสายศิลป์ ภาษา ซึ่งรู้เรื่อง ตัด – ต่อ วิดีโอ ด้วยคอมพิวเตอร์น้อยเป็นทุนเดิม แต่เดี๋ยวนี้เริ่มได้กำไร คือ เริ่มคล่องแคล่วขึ้น รู้มากขึ้น ที่สำคัญ ผู้เขียนก็จำเป็นต้องคล่องกว่า จากที่ไม่คล่องเลย นี่ครับเรียกว่า อานิสงส์ ของการเรียนรู้ร่วมกัน เมื่อตัดต่อเสร็จเรียบร้อยพร้อมฉาย สิ่งที่ได้คือ กำลังใจจากผู้ชมทั้งโรงเรียนที่พร้อมใจกัน ซื้อตั๋วหนังใบละ 2 บาท จนล้นห้องฉาย ผู้เรียนได้ความภาคภูมิใจในการทำงานอีกทบหนึ่ง นี่เรียกว่าถึงเหนื่อยหน่อยแต่ก็คุ้มใช่ไหมล่ะครับ.


นำเสนอ : งานสาธิตวิชาการ และ EDUCA 2007 ณ ไบเทค บางนา ระหว่างวันที่ 25 - 28 ตุลาคม 2550

Thursday, September 6, 2007

สัตยาไส …. ไปมาแล้ว

ระยะทางจากมหาสารคามไปชัยบาดาล จ. ลพบุรี ก็ไกลโข แต่พี่คนขับรถเราก็เลือกใช้เส้นทาง ที่ไกลกว่า! เพื่อบรรยากาศและเปิดโลกทัศน์ใหม่ ๆ ในเส้นทางใหม่ ๆ ของผู้ร่วมทางทั้ง ๘ ชีวิต ขอบคุณครับสำหรับการเดินทาง ..

เมื่อมาถึง อ.ชัยบาดาล สิ่งแรกที่ข้าพเจ้าทำคือ การนอนพักผ่อนที่โรงแรม จนถึงประมาณสองทุ่ม ข้าพเจ้าตัดสินใจสำรวจเมือง โดยเดินทางจากที่พักไปใจกลาง อำเภอ ระยะทาง ๑ กิโลเมตร และเดินไป เป็นอย่างเดียวที่ทำได้ เพราะไม่มีรถโดยสารประจำทาง อำเภอชัยบาดาลใหญ่มาก ประมาณกับเมืองมหาสารคามหรือเขาอาจจะใหญ่กว่าด้วยซ้ำ เนื่องเพราะอาจเป็นชุมทาง ทางรถยนต์ ไปยังอีกหลายจังหวัด และอยู่ห่างจากตัวจังหวัด หลักฐานยืนยันความเจริญคือมี เซเว่นฯ ๒ แห่งห่างกันไม่ถึง ๗๐๐ เมตร ร้านหนังสือที่เปิดถึง ๔ ทุ่ม โต้รุ่งที่ยึดสี่แยกไฟแดงได้ทุกด้าน หรือแม้กระทั่งห้างใหญ่ ๆ อย่างโลตัส ยังอยากเปิดสาขาขึ้นที่นี่ เจริญมาก! ยังไม่นับกับโรงเรียนดัง ๆ เช่น อัสสัมชัญ ลำนารายณ์ รวมไปถึงโรงเรียน สัตยาไส ที่เราดั้งด้นมาชมนี้ด้วย!
ตีสี่ วันที่สองของการเดินทาง ข้าพเจ้าแหกตาตื่นมาพร้อมพนักงานขับรถ เพื่อมุ่งหน้าไปยังโรงเรียนสัตยาไส เพื่อชมกิจกรรมการเรียนการสอนตั้งแต่ตี ๕ น่าสนใจตรงนี้ครับผ่านอ่าน ตรงที่ว่าโรงเรียนนี้จะเป็นโรงเรียนวัดก็ไม่ใช่ โรงเรียนคริสต์ก็ไม่เชิง เป็นโรงเรียนวิถีพุทธ ก็มีนักเรียนหลายศาสนา สรุปไม่ถูก สรุปได้ง่าย ๆ เอาเองตามความคิดข้าพเจ้าว่า เป็นโรงเรียน “คุณธรรมนำความรู้” (สอดคล้องกับ นโยบายของรัฐบาลยุค คมช. แต่ที่นี่เปิดทำการเรียนการสอน ก่อนการปฏิวัติมาแล้ว 15 ปี นะ) เพราะสิ่งที่พบ คือ โรงเรียนลดสิ่งที่บั่นทอนสุขภาพกาย และสุขภาพจิตของนักเรียน อาทิเช่น อาหารมังสวิรัติ การไม่ให้เด็กดูทีวี การป้องกันการแชท การไม่ให้ใช้โทรศัพท์ในโรงเรียน ฯลฯ เป็นต้น และเสริมสร้างความเจริญทางสติและปัญญา คือ การสวดมนต์ ร้องเพลง และกิจกรรมการเรียนรู้แบบสอดสัมพันธ์ ระหว่างวิชา ไม่แยกกันให้ขาด เพราะทุกวิชาเป็นความสอดคล้องต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ได้ละทิ้งความเป็น “มนุษย์” คือ การดำรงความเป็นธรรมชาติของเด็ก เด็ก ๆ ยังซน ยังเล่น ได้แบบอิสระและไม่โดนดุ โดนด่า และ อาศัย “สำนึกดี” ให้หยุด หรือ ควบคุมซึ่งกันและกันเอง โดยกระบวนการทางธรรมชาตินี้ ดำเนินไปโดยอัตโนมัติ มีหลากหลายเหตุผลที่อธิบายการสร้างโรงเรียนแบบนี้ แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็นต้องฟังการอธิบายจากผู้เป็นเจ้าของ คือ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา เพราะคำอธิบายของท่าน ถูกตอบผ่านคำบอกเล่าและการกระทำของเด็ก ๆ ในโรงเรียนสัตยาไสนั้นแล้ว
ณ วันนี้ โรงเรียนสัตยาไส เดินทางมาไกลจากจุดเริ่มต้น และกำลังเตรียมความพร้อมที่จะเป็นสถาบันอุดมศึกษา ที่เตรียมครูสำหรับสั่งสอนชาวโลกให้ใช้ความรัก และ คุณธรรม นำ ความรู้ และนำพาโลกกลมๆ ใบเล็ก ๆ ของพวกเราทุกคน ฝ่าคลื่นความร้อนแรง ของธรรมชาติ และ กิเลสมนุษย์ ดำรงสภาพโลกต่อไปอีกนิดหน่อย เท่า ๆ ที่ลูกหลานเราจะได้อยู่ต่อ ขอให้ประสบความสำเร็จและ ข้าพเจ้าจะนำแนวคิดดี ๆ มาร่วมทำเพื่อเป็นอีกแรงหนึ่งพิทักษ์โลกด้วยกัน สู้เขานะ ขบวนการจูแรนเจอร์!

อ้างอิงรูปภาพ จาก http://gotoknow.org/file/dhanarun ขอบคุณครับ

Tuesday, April 17, 2007

ไอซ์ไม่ใช่ประเด็น

 

ส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวเชิงสัมมนา มีการอิจฉากันด้วย!!!...
Posted by Picasa

Monday, April 16, 2007

สัมมนาวิจัยในชั้นเรียน

 


กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ร่วมสาระแน กับการทำวิจัยในชั้นเรียน ณ ชาเล่ย์ฮิลล์ รีสอร์ท เขาใหญ่มาก ๆ จังหวัดนครราชสีมา สิ่งที่ได้นะเหรอ! อึ ๆ
หวังใจเป็นอย่างยิ่งว่าการสัมมนาครั้งนี้ อ.โก้ จะนำความรู้ ทักษะ ความเข้าใจอันละเอียดลึกซึ้งถึงแก่นแท้ ... มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ...พระเจ้ายอด มันจอร์ซมาก ก ก ก!!!
Posted by Picasa

Monday, March 19, 2007

เปิดตัวกันก่อน

ใช้วิธีการหลากหลายมากกับเทคโนโลยี Think ก็แล้ว เว็บไหน ๆ ก็แล้ว ...เอาเป็นว่าเริ่มต้นกันใหม่ กับ blogger ก็แล้วกัน เผื่อโลกทัศน์ใหม่ ๆ จะเกิดกับเรา และ นักเรียน "ผู้ประเสริฐ" บ้าง ......