Sunday, October 14, 2012

ผมไป EDUCA 2012 มา


รายงานผลการศึกษาเข้าฟังบรรยายพิเศษ ในงาน EDUCA 2012 
ณ อิมแพ็คอารีน่า เมืองทองธานี
9-11 ตุลาคม 2555
   *สัจจพงษ์  ญาตินิยม 
Educa 2012 : The 5th Annual Congress for Teacher Professional Development หรืองานมหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู ครั้งที่ 5 เป็นงานแสดงสินค้าและการประชุมสำหรับกลุ่มผู้บริหารทางการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ตลอดจนครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยมีการนำเสนอแนวคิด นวัตกรรมและองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้กับครูเพื่อพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น International Conference Workshop Trade Exhibition โดยข้าพเจ้าได้เข้าร่วม Workshop 2 กิจกรรมดังนี้



วันที่ 10 ตุลาคม 2555

ฟังบรรยาย หัวข้อ แท็บเล็ตกับการเรียนการสอนแบบ win - win situation - ผู้เรียนสนุก ผู้สอนได้ประโยชน์ โดยผู้เชี่ยวชาญ ของ ipad
ประเด็นสำคัญของหัวข้อบรรยายนี้คือ ผู้เชี่ยวชาญได้เน้นถึงประโยชน์ของเครื่องมือที่เรียกว่า ipad แท็บเล็ตของ Apple ซึ่งมีเครื่องมือที่เรียกว่า Application ต่าง ๆ ให้ดาว์นโหลด  และนำมาจัดการเรียนการสอนได้ พร้อมทั้งนำเสนอตัวอย่าง Application 10 ตัวอย่างให้เลือกใช้ทั้งฟรีและไม่ฟรี ซึ่งของไม่ฟรีก็ซื้อในราคาย่อยเยาว์ เช่น App ที่สามารถล็อคหน้าจอ Ipad ของเด็ก ๆ ให้สนใจเฉพาะบทเรียนที่เรากำหนดให้อ่านได้ มันสามารถตรวจสอบว่าอยู่ในหน้านั้นหรือไม่ หรือ App ที่สามารถใช้ส่งสัญญาณภาพจาก Ipad ไปยังเครื่องโปรเจคเตอร์ ได้โดยสัญญาณ บูทูต ได้เป็นต้น
สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญให้ความสำคัญประการหนึ่งและข้าพเจ้าค่อนข้างเห็นด้วยคือ การสอนให้นักเรียนนำความรู้มาสร้างเป็นเครื่องมือ หรือ App ให้คนอื่นเข้าถึงความรู้ เล่าง่าย ๆ คือ ให้นักเรียนทำ Application ให้เป็น นักเรียนได้เรียนรู้การทำ App และทำความเข้าใจเนื้อหาที่เรากำหนดให้ทำไปพร้อมกัน ผลประโยชน์ทางอ้อมที่อาจได้กลับคืนมาคือ ถ้า App นั้น ขายได้  สมมติว่าดาว์นโหลดครั้งละ 30 บาท คนที่ใช้เครื่อง ipad หรือ iphone ในโลกมีอยู่ประมาณ ร้อยล้านเครื่อง แต่เขาอาจจะดาว์นโหลดให้เราแต่ 1 ล้านเครื่อง เราก็รับทรัพย์ 30 ล้าน ก็อยู่ได้สบายแล้ว ... นั่นคือสิ่งที่น่าปรับใช้กับนักเรียนของเรา



วันที่ 11 ตุลาคม 2555
ฟังบรรยาย หัวข้อ สอนเขียนแผนบูรณาการบนฐานเด็กเป็นสำคัญ : ทักษะการคิด อยู่อย่างพอเพียง และประชาคมอาเซียน โดย คณาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ประเด็นแรก ความสำคัญของการวางแผนการสอน โดยวิทยากรฉายภาพวิวัฒนาการของสังคมเริ่มจากสังคมอุตสาหกรรมเข้าสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ ซึ่งเรากำลังดำเนินอยู่ และกำลังสู่สังคมใหม่นั่นคือสังคมแห่งการแบ่งปัน ซึ่งมีคุณค่ามากและต้องเร่งปลูกฝังความคิดนี้กับนักเรียนเพราะจำเป็นต่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 นอกจากนี้แล้ววิทยากรยังกล่าวถึงวัฒนธรรม 4 ประเภท คือวัฒนธรรมท้องถิ่น วัฒนธรรมชาติ วัฒนธรรมอาเซียน และวัฒนธรรมโลก ซึ่งเป็นปัจจัยในการนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้กับนักเรียนในฐานะพลเมืองของโลก การเติมทักษะทางวัฒนธรรมอย่างครอบคลุมจะส่งผลไปยังผู้เรียนที่ดำรงคงอยู่อย่างเข้าใจ เข้าถึงพลวัตของโลกยุคสังคมแห่งการแบ่งปันมากยิ่งขึ้น
   
ประเด็นต่อมารูปแบบการเขียนแผนทุกขั้นตอน การเขียนแผน ก็คือการเตรียมกรอบการสอนให้รัดกุมและทุกขั้นตอนจะมีความหมายวัดผลได้ตามหลัก 6 ข้อ ของบลูม ได้แก่ รู้จำ  เข้าใจ นำไปใช้ วิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมินค่า และต้องนำเอาคุณลักษณะอันพึงประสงค์แทรกลงไปในแผน พูดอย่างง่ายคือ นำ K P A ความรู้ ทักษะ จิตพิสัย ใส่ไปตั้งแต่วัตถุประสงค์จนไปถึงวัดผลให้ได้
สุดท้ายคือทักษะเฉพาะในการสอนคนทีละพันคน ของอาจารย์วิทยากรที่ตรึงให้ต้องตื่นตัวและเรียนรู้แบบไม่เบื่อตลาดครึ่งวัน มุกเกี่ยวกับ เป็นครูต้องดูดี เช่น นิ้วที่ใส่แหวนและทาเล็บสีสวยจะดูดีกว่านิ้วที่ไม่ได้ทำอะไรเลย เป็นต้น
นอกเหนือจากนี้แล้วข้าพเจ้ายังได้ใช้เวลา่ว่างไปทัศนศึกษาที่เกาะเกร็ด และได้เกร็ดใหม่ ๆ หรือความรู้ใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นครั้งแรกกับข้าวแช่ หรือข้ามฟาก 2 บาทไปเกาะเกร็ด เครื่องปั้นกินเผาสุดวิจิตร เป็นต้น ภาพรวมทริปการศึกษาดูงานครั้งนี้คุ้มค่ากับการลงทุนครับ

        
  

Sunday, August 26, 2012

gogoland ไปนครปฐมและลพบุรีมา ...


รายงานผลการศึกษาดูงานโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำแพงแสน จ.นครปฐม               (โครงการ วมว) และการศึกษาดูงาน โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย ศูนย์อาเซียนศึกษา                                          จ.ลพบุรี 21-22 สิงหาคม 2555
*สัจจพงษ์  ญาตินิยม

วันอังคาร ที่ 21 สิงหาคม 2555

            สืบเนื่องจาก มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2555 ได้เห็นชอบให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดำเนินโครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (โครงการ วมว.) ระยะที่ 2 ระยะเวลา 10 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 - 2565) โดยมีเป้าหมายรวม 174 ห้องเรียน เพื่อสนับสนุนนักเรียนรวมทั้งสิ้น 5,220 คน กรอบวงเงินงบประมาณของโครงการ วมว. ตลอดโครงการเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 3,227 ล้านบาท และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ฝ่ายมัธยม) ของเราก็ได้รับการยืนยันจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ให้ดำเนินการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน เริ่มในปีการศึกษา 2556 นี้ เราจึงต้องไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง
1.      ประเด็นที่ได้รับจากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำแพงแสน คือ เราต้องรู้จุดเด่น จุดเน้นของเรา และเอาจุดเด่นจุดเน้น มาเป็นจุดขายของโครงการในส่วนภูมิภาค เพราะเรามีคู่แข่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือถึง 3 ห้องเรียน และเก่าแก่กว่าเราแทบทั้งสิ้น
2.      การปลูกฝังความเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่รักการค้นคว้าทดลอง ตัวอาจารย์ผู้สอนเองต้องมีบุคลิกภาพอย่างนั้นก่อน เด็กจึงจะศรัทธาและนำอาจารย์มาเป็นต้นแบบได้
3.      หลักการบริหารโครงการที่ดีต้องประสานงานอย่างจริงใจ ไม่เกี่ยงงาน และผู้บริหารสูงสุดต้องรู้เห็นเป็นใจกับเรา เพื่อที่จะประสานทรัพยากรที่เราจำเป็นต้องใช้จากคณะอื่น ๆในมหาวิทยาลัย หรือส่งต่อนักเรียนเข้าสู่คณะวิทยาศาสตร์ หรือคณะที่เกี่ยวข้องได้ด้วย
4.      ผู้ประสานงานต้องลดทิฐิ อัตตา เพื่อว่าเราจะมุ่งหน้าสู่เป้าหมายไปพร้อมกัน
5.      การประชาสัมพันธ์ทั้งภายในองค์กรและต่อสาธารณชน ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก ต้องมีการแถลงข่าวชัดเจน และการสร้างข่าวสารเชิงบวกเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
6.      การดูแลนักเรียนมีหลักการที่ดี คือ ดูแลนักเรียนแบบใกล้ชิดเมื่อพบปัญหาทั้งการเรียนและเรื่องส่วนตัวก็ไม่ละทิ้ง เข้าไปจัดการตรงปัญหาทันที การแก้ปัญหาจึงไม่เหมือนการหว่านแห แก้ไปทุกอย่างแต่ไม่ตรงปัญหาสักที
ด้วยศักยภาพที่เราเห็นทั้งภาพการร่วมแรงร่วมใจ และหลักในการทำงานชัดเจน โครงการ วมว.ของ
โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำแพงแสน จึงโดดเด่นเป็นที่จับตามองและถูกยกย่องให้เป็นโครงการ วมว.อันดับต้น ๆ ของประเทศอย่างไม่ต้องสงสัย ในฐานะผู้ศึกษาดูงาน ข้อมูลเหล่านี้โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ฝ่ายมัธยม) ของเราควรมีการรวบรวมและประชุมทำแผนการดำเนินงานให้ชัดเจนโดยยึดหลักที่ดีบางอย่างของกำแพงแสน บวกหลักที่เยี่ยมยอดของสาธิต สารคามเราเข้าไปด้วยกันจะสมบูรณ์แบบมาก
  
วันพุธที่ 22 สิงหาคม 2555

อาเซียน  หรือสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  (Association of Southeast Asian Nations หรือ ASEAN) ได้ถูกก่อตั้งขึ้นภาใต้ปฏิญญากรุงเทพ (The Bangkok Declaration) เมื่อวันที่ 8สิงหาคม 2510 โดยมีสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ในเวลาต่อมาได้มีประเทศต่างๆ สมัครเข้าเป็นสมาชิกเพิ่มเติม ได้แก่ บรูไน เวียดนาม ลาว พม่า และกังพูชา ตามลำดับทำให้อาเซียนมีสมาชิกรวมทั้งหมด 10 ประเทศ โดยยึด 3 เสาหลัก คือ
 1.ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน  
 2.ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  
 3.ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

Sathit Mahasarakham@Pibul School 2012 on PhotoPeach  

จากการศึกษาดูงานศูนย์อาเซียนศึกษา ของโรงเรียนพิบูลวิทยาลัย พบว่า

1.      โรงเรียนเราไม่จำเป็นต้องมีศูนย์อาเซียน เพราะ
1.1  ศูนย์อาเซียนเป็นนโยบายของ สพฐ. มี 54 โรงเรียนทั่วประเทศ (Sister School จำนวน
30 โรง Buffer School  จำนวน 24 โรง ) ใกล้ที่สุดอยู่โรงเรียนกัลยาณวัตรขอนแก่น ที่จังหวัดมหาสารคาม ของ สอศ. มีศูนย์อาเซียนศึกษาที่วิทยาลัยเทคนิคมหาสารคาม เปิดศูนย์เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 55 นี้เอง
1.2  จากการที่เป็นนโยบายจึงมีงบประมาณส่วนหนึ่งมาสนันสนุน และศักยภาพในการระดม
ทุนของโรงเรียนประจำจังหวัดจะมีมากกว่าโรงเรียนสาธิตแน่นอน
                        1.3 การสร้างศูนย์มีภาระตามมา เช่น การจัดการบุคลากร ภาระงานสอน ภาระงานตามแผนงานประจำปี และจะส่งผลถึงจุดเน้นของโรงเรียนกับโครงการที่จำเป็นกว่า (วมว.)

            2. โรงเรียนเราควรดำเนินการดังนี้
2.1 ควรเชื่อมเนื้อหาอาเซียนแทรกในบทเรียนเป็นหลัก รับผิดชอบโดยกลุ่มสาระฯ ในการ
จัดทำแผนการสอนรายบุคคล แผนปฏิบัติงานประจำปีของกลุ่มสาระ หรืออื่น ๆ ที่มีเนื้อหาอาเซียนสอดแทรก โดยฝ่ายวิชาการ กำกับดูแลเป็นหลัก
                              2.2 มุมอาเซียนในห้องสมุดเป็นสิ่งจำเป็นมาก  มี หนังสือ และแผ่นพับ  แหล่งสืบค้นทางอินเตอร์เน็ต ตุ๊กตาชุดประจำชาติ สื่อวีดิทัศน์   เอกสารข้อมูลสืบค้น สัญลักษณ์ที่สื่อถึงวัฒนธรรมของชาติต่างๆ อาทิ ภาพแขวน และงานหัตถกรรมต่างๆ ไว้มุมใดมุมหนึ่งของห้องสมุด
                        2.3 กลุ่มสาระต่าง ๆ ควรมีจุดเน้นเฉพาะเพิ่มอีกเพื่อเป็นจุดขาย เช่น กลุ่มสาระภาษาต่างประเทศ ดำเนินการด้านหลักสูตรภาษาอาเซียน ห้องเรียนเฉพาะทางด้านภาษาบส เทศกาลอาเซียน เป็นต้น หรือกลุ่มสาระสังคมฯ อาจจัดกิจกรรม ค่ายวิชาการ ชุมนุม ที่เน้นให้ความรู้เกี่ยวกับ 3 เสาหลักอาเซียน เป็นต้น
                        2.4 หลักสำคัญคือทำทุกอย่างร่วมกัน หรือแบ่งงานตามนโยบายให้ทำเท่า ๆ กันทุกกลุ่มไม่ให้หนักที่ใครหรือกลุ่มสาระใดสาระหนึ่ง ทำให้เนียนกับสิ่งที่เราทำมาแล้ว จะไม่เกิดภาพของงานที่ซ้อนทับ หรือ งอกงานใหม่มากเรื่อย ๆ จนบดบังจุดเน้นของตัวเอง

gogoland อยู่เกาหลี