กิจกรรมผลิตภาพยนตร์สั้น :
การเรียนรู้วรรณกรรมท้องถิ่นผ่านการผลิตสื่อโดยผู้เรียน
Short Film Production :
Studying of local literature via media making by learner
สัจจพงษ์ ญาตินิยม
Gotos69@gmail.com
“ครูเคยรู้ไหมครับ ว่าสิ่งที่ผมจะเรียน ผมต้องการมันรึเปล่า?” “ครูว่าหนูจะ ได้เอาหมอลำของครู ไปร้องเป็นอาชีพไหมค่ะ? ” “ครูเข้าใจไหมคะ หนูอายที่จะพูดอีสาน” “ขอเกรดสี่เลยครับครูครับ” “ครูไม่เข้าใจตุ้ม?” ฯลฯ นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำถามที่ผู้เรียน ถามให้ผู้เขียนตอบ ในฐานะที่เป็นครูสอนวิชาภาษาไทยเพิ่มเติม ในรายวิชาที่หลักสูตร (หมายถึง หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และหมายถึงผู้ที่คิดมันขึ้นด้วย) กำหนดให้เรียน แต่เด็กมีความปรารถนาน้อยที่จะเรียน วิชาที่ว่านี้คือวิชา “วรรณกรรมท้องถิ่น” ในความที่เป็นครูผู้ดันทุรังสูง จะตอบแบบตรง ๆ ก็ดูจะเป็นการทำร้ายจิตใจของหลักสูตร แต่ถ้าจะเออออ ไปกับผู้เรียนด้วย คงจะไม่เป็นอันเรียนอันสอน ผู้เขียนจึงต้องหาทางออกให้กับชีวิตตนเองโดยรวมหัวกับผู้เรียน ออกแบบ วิชาเรียนโดยใช้ชื่อเดิมแต่ทำวิธีการสอนไม่ซ้ำเดิม เป้าหมายคือ ลดทอนความน่าเบื่อของวิชา แต่เพิ่มประสิทธิภาพด้านทักษะ และวิธีการคิด แต่เนื้อหายังคงอยู่ โจทย์ที่หนึ่งก็เริ่มสนุกแล้วใช่ไหมครับ
ด้วยพื้นเพ ผู้เรียนเป็นเด็กกลุ่มศิลป์ ภาษาอังกฤษ –ฝรั่งเศส มัธยมศึกษาปีที่ 5 มีจำนวน กำลังพอดี 30 คน คาบเรียนแรกปฐมฤกษ์ หากถามว่าจะเรียนยังไง คงได้รับคำตอบว่า ไม่เรียนแน่ ผู้เขียนได้ออกแบบวิธีไว้ล่วงแล้ว หน้าที่ของผู้เขียนในคาบแรกนี้ ก็คือพยายามทำให้นักเรียนเห็นด้วยกับสิ่งที่จะทำ แน่นอนด้วยวัยของผู้เรียน อะไรที่ท้าทายก็มักจะสนใจ เราไม่สอบปลายภาค เราจะทำหนังสั้น จากเนื้อหาที่เรียนในภาคเรียนนี้ ผู้เรียน ๆ เริ่มสนใจตอนนี้ยังไม่คำนึงถึงความยาก – ง่าย งานนี้ ผู้เขียนใช้เครื่องมือจัดการความรู้ spa โมเดล ในการวางแผนการสอน spa ไม่ใช่ การนวดนะครับ แต่ spa คือ
1. เรื่องเล่าเร้าพลัง (Storytelling) เป็นการถอดความรู้ฝังลึกโดยการมอบหมายให้ผู้ที่มีผลงานดี หรือมีวิธีการทำงานที่ดี มาเล่าให้คนอื่นๆ ฟังว่าทำอย่างไร คนเล่าจะต้องเล่าให้สนุก น่าฟัง เร้าใจ เล่าให้เห็นการปฏิบัติ เห็นบุคคล ตัวละครในเหตุการณ์ ใช้ภาษาเชิงปฏิบัติจริง เล่าสิ่งที่ตนเองทำจริงๆ กับมือ ไม่ปรุงแต่ง ใส่สีตีไข่ เล่าเหมือนเล่านิทานให้เด็กฟัง โดยช่วงแรกเราใช้นิสิตในคณะสถาปัตยกรรม มาเป็นบุคคลต้นคิด เหตุผลที่ให้นิสิตสถาปัตยกรรมมาเร้าพลัง เพราะต้องการให้เห็นว่า แม้กระทำหนังสั้นจะไม่ใช่ เรื่องของสถาปัตยกรรม แต่ถ้าใจรัก และอาศัยความเพียร อะไรก็ทำได้
2. เพื่อนช่วยเพื่อน (Peer Assist) เชิญทีมอื่นมาแบ่งปันประสบการณ์ดีๆ (best practice) ให้เรา มาแนะ มาสอน มาบอก มาเล่าให้เราได้ฟังเพื่อจะได้นำไปประยุกต์ใช้ในกลุ่ม งานนี้เราแบ่งกลุ่มเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 15 คน แน่นอน กลุ่มอ่อน ก็ย่อมเป็นที่รังเกียจ และย่อมโคจรไปอยู่ด้วยกันแน่ ฉะนั้นกลุ่มเก่งกว่าก็ทำหน้าที่หนักกว่าอีกด้วย คือ ต้องช่วยเหลือด้านเทคนิคและเนื้อหา
3. การทบทวนหลังปฏิบัติการ หรือ การถอดบทเรียน (After Action Review : AAR) เมื่อทำงานเรื่องใดเรื่องหนึ่งเสร็จแล้ว ก็มีการมานั่งทบทวนร่วมกัน ผ่านทางการเขียนและการพูด ด้วยการตอบคำถามง่ายๆ ว่า สิ่งที่เรียนหรือทำวันนี้เพื่ออะไรหรืออยากได้อะไร ทำแล้วได้ตามที่คาดหวังไว้ไหม ทำไมถึงได้มากกว่าหรือน้อยกว่า ได้อะไรดี ๆ เพิ่มขึ้นมาบ้างและถ้าจะทำแบบนี้อีกควรปรับปรุงอย่างไร ในระยะหลังมีคนคิดการทบทวนก่อนปฏิบัติ (Before Action Review : BAR) ขึ้นมาใช้และ การทบทวนขณะปฏิบัติ (During Action Review : DAR) ตรงนี้ครับคือ คะแนนปลายภาคของผู้เรียน
ดูเป้าหมายหมายจะไกลและยากเหลือเกิน ปัญหาอยู่ที่ว่าเมื่อลงมือสอนแล้ว ครูแนบเนียนในการนำไปใช้รึเปล่า เพราะถ้านำหลัก spa ไปใช้แล้ว ทำเป็นขั้นตอนจนเด็กจับพิรุธ มันก็ไม่ต่างกับรูปแบบการสอนเดิม ๆ ครับ พอใกล้จะปลายภาค หลังจากที่เรียนในห้องปกติแล้ว เสาร์-อาทิตย์ ผู้เรียนก็ชวนครูมาบันทึกภาพ บ้างก็มานั่งตัดต่อวิดีโอกันที่โรงเรียน สิ่งที่ได้เกินคาดคือ จากนักเรียนสายศิลป์ ภาษา ซึ่งรู้เรื่อง ตัด – ต่อ วิดีโอ ด้วยคอมพิวเตอร์น้อยเป็นทุนเดิม แต่เดี๋ยวนี้เริ่มได้กำไร คือ เริ่มคล่องแคล่วขึ้น รู้มากขึ้น ที่สำคัญ ผู้เขียนก็จำเป็นต้องคล่องกว่า จากที่ไม่คล่องเลย นี่ครับเรียกว่า อานิสงส์ ของการเรียนรู้ร่วมกัน เมื่อตัดต่อเสร็จเรียบร้อยพร้อมฉาย สิ่งที่ได้คือ กำลังใจจากผู้ชมทั้งโรงเรียนที่พร้อมใจกัน ซื้อตั๋วหนังใบละ 2 บาท จนล้นห้องฉาย ผู้เรียนได้ความภาคภูมิใจในการทำงานอีกทบหนึ่ง นี่เรียกว่าถึงเหนื่อยหน่อยแต่ก็คุ้มใช่ไหมล่ะครับ.
นำเสนอ : งานสาธิตวิชาการ และ EDUCA 2007 ณ ไบเทค บางนา ระหว่างวันที่ 25 - 28 ตุลาคม 2550
3 comments:
ดีจังเลยค่ะอาจารย์...ได้ทำงานร่วมกัน และร่วมเรียนไปด้วย...แต่ว่า ถ้าหากว่า จริงๆ แล้ว มีกลุ่มที่ไม่ค่อยได้ช่วยงานเพื่อนละคะ...หมายถึงว่า การให้งานเด็กกลุ่มที่หัวดีหน่อย มากกว่า แล้วกลุ่มที่เรียนอ่อน จะได้ทำงานเหมือนกันรึเปล่าคะ
ต้องบอกว่าเป็นอานิสงส์ของ รุ่นพี่พวกเขาที่เสียสละทดลองให้ครูเข้าใจว่าควรจัดการยังไงกับเรื่องนี้ ตอนนี้ครูลงมือเต็มที่กับกลุ่มอ่อน ตั้งแต่ถ่ายทำ ตัดต่อ เขาอยู่กับครูตลอด ..ส่วนกลุ่มเก่งที่ต้องสู้เองต่อไป ..
อาจารย์โก้ มีเวปด้วยก็ไม่บอก นี่บังเอิญเจอจากการเสิร์ชชื่อพ่อใน วิกิพีเดีย มาเจอ มมส เจอเวปโรงเรียน(เก่า) แล้วมาเจอบล๊อกอาจารย์นะคะเนี่ย
ทำไมน้องๆเขาโชคดีกันอย่างนี้ ทำไมตอนหนูเรียนมันไม่มีวิชาอย่างนี้บ้าง
น้องๆเด็กรุ่นใหม่นี่โชคดีจริงๆเลยน้อ ตั้งใจเรียนกันนะเด็กๆ
พอหนูจบ โรงเรียนก็เริ่มพัฒนาอย่างเป็นระบบซะงั้น --"
Post a Comment