Thursday, January 24, 2008

อรุณรุ่งที่รุ่งอรุณ .....





ได้มีโอกาสเดินทางร่วมทริปไปกับ นพ. จิตเจริญ อีกครั้ง ในการศึกษาดูงาน โรงเรียนต้นแบบ ของการจัดองค์กรการเรียนรู้ นั่นคือ โรงเรียนรุ่งอรุณ ในที่นี้ก็จะขอเล่า และสรุปแนวความคิด ให้กับผู้อ่าน และขออนุญาตเปรียบเทียบกับโรงเรียนของเราด้วย แน่นอน เกือบค่อนเรื่องก็ได้รับความอนุเคราะห์สมอง ของ อ.เก่ง ที่ได้สรุปสิ่งที่เห็นด้วยกัน แต่คนละมุมมอง มาไว้ที่นี้ด้วย ...
การศึกษาดูงานโรงเรียนรุ่งอรุณ และ บริษัท เครือซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
ระหว่างวันที่ 14-16 มกราคม 2551


สิ่งที่คาดว่าจะได้รับจากการไปศึกษาดูงาน
1.1 แนวคิด เกี่ยวกับโรงเรียนในอุดมคติ ที่เป็นต้นแบบเพื่อเลือกหาแนวทางที่เหมาะสมในการประยุกต์ใช้กับโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
1.2 เข้าใจวิธีการสร้างองค์ความรู้ให้กับนักเรียนด้วยวิธีการแบบรุ่งอรุณรวมไปถึงระบบการจัดการของโรงเรียน


สิ่งที่พบเห็นจากการศึกษาดูงาน
โรงเรียนรุ่งอรุณ
โรงเรียนรุ่งอรุณ แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานครฯ เป็นโรงเรียนที่มีการจัดการเรียนรู้แบบองค์รวมมีแนวทางพุทธธรรมเป็นแกนหลักเชื่อมโยงกับทักษะในการดำเนินชีวิต มาเป็นแนวทางในการศึกษาของโรงเรียน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างคุณธรรมในระบบการศึกษาไทย สามารถสร้างวัฒนธรรมสถานศึกษาหรือวัฒนธรรมองค์กรใหม่เพื่อพัฒนาเยาวชนให้เป็นคนดี มีความรู้ อยู่ดีและมีสุข
การศึกษาและดูงานในวันที่ 15 มกราคม 2551 เริ่มตั้งแต่เช้าตรู่คณะผู้ศึกษาดูงานได้เดินทางถึงโรงเรียนตั้งแต่เวลา 06.00 น เพื่อเตรียมความพร้อมและได้ศึกษาโดยการสังเกต สอบถามและฟังบรรยาย พบว่าเป็นโรงเรียนที่มีศักยภาพในหลายๆด้าน ทั้งนี้มีข้อค้นพบว่าสิ่งที่เป็นปัจจัยเสริมในการสร้างศักยภาพที่สำคัญของโรงเรียนคือ
1.การมีส่วนร่วมจากผู้ปกครองอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้การรับนักเรียนเข้าจะไม่ได้ใช้ระบบในการรับเข้าโดยการสอบ แต่จะเน้นการใช้การสอบสัมภาษณ์และอบรมผู้ปกครองเพื่อดูความพร้อมและศักยภาพของครอบครัวที่จะเข้ารับการศึกษา ส่งผลให้ผู้ปกครองมีความกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วมกับโรงเรียนตลอดเวลารวมไปถึงเมื่อมีการขอความร่วมมือจากทางโรงเรียน
2.ศักยภาพด้านการเงิน แม้ว่าโรงเรียนจะไม่ได้สังกัดสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)และอาศัยเพียงเงินรายได้จากค่าเล่าเรียนของนักเรียน และไม่ได้รับเงินจากการบริจาคแต่เฉพาะค่าเล่าเรียนก็สามารถนำมาบริหารจัดการเป็นค่าใช้จ่ายและเงินเดือนของครูและเจ้าหน้าที่ได้อย่างเพียงพอเพราะเรียกเก็บในอัตรา 100,000 บาท/คน/ปี แต่ผู้ปกครองก็ยินยอมที่จะจ่ายเพราะโรงเรียนมีผลงานและสภาพแวดล้อมที่เป็นที่ประจักษ์
3.สภาพภูมิทัศน์เป็นอีกปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้แขกผู้มาเยือนและผู้ที่ต้องการเข้าศึกษาประทับใจเนื่องจากทำเลที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากย่านความเจริญแต่ก็ไม่ได้ถูกคุกคามโดยความเป็นเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร เพราะยังคงรักษาสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ ทั้งนี้แต่เดิมนั้นบริเวณนี้เป็นสวนส้มมาก่อนอีกทั้งผู้อำนวยการก็เป็นสถาปนิกมาก่อนจึงมีวิสัยทัศน์ในการตกแต่งอาคารเรียนและสภาพแวดล้อมโดยรอบให้เป็นที่น่าประทับใจ
ปัจจัยทั้งสามถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้โรงเรียนประสบความสำเร็จกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ และนอกจากปัจจัยทั้งสามแล้วการดำเนินการของโรงเรียนจากการศึกษาดูงานสามารถแยกเป็นประเด็นต่างๆได้ดังนี้

1.ด้านการบริหารจัดการ
โรงเรียนรุ่งอรุณ มีเทคนิคการบริหารจัดการที่หลากหลาย ส่วนในการบริหารมีผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ และครูใหญ่ฝ่ายอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตามลำดับ มีเทคนิคที่น่าสนใจดังเช่น
- ระบบการเรียนรู้ในองค์กรส่วนมากจะเป็นแบบ Face to Face คืออบรม พูดคุยแบบตัวต่อตัว ส่วนการอบรมรวมนั้นจะมีไม่บ่อยนัก
- การคัดเลือกครูและบุคลากรจะใช้วิธี ทดสอบเบื้องต้น การสัมภาษณ์ และทดลองงานเป็นเวลา 3 เดือน หากไม่ผ่านการประเมินก็จะทดลองต่ออีก 3 เดือน ทั้งนี้จำนวนครูในปัจจุบันมีทั้งสิ้น 124 คน เจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนประมาณ 100คน มีนักเรียนประมาณ 1,000 คน ถือได้ว่ามีอัตรากำลังครูและเจ้าหน้าที่จำนวนมากทำให้ดูแลนักเรียนได้ทั่วถึง
- ในส่วนบุคลากรมีการพัฒนาอยู่เสมอโดยมักอยู่ในรูปของการอบรม โดยอย่างน้อยบุคลากรทุกคนต้องได้รับการอบรมการฝึกจิตที่วัด หรือสถานปฏิบัติธรรม เพราะมีแนวคิดว่าการที่จะฝึกนักเรียนในวิถีทางแห่งพุทธได้นั้นครูต้องมีความพร้อมก่อน และในส่วนการดูแลสวัสดิการของครูและบุคลากรนั้นคล้ายกับหลายๆหน่วยงานเช่น ช่วยเหลือค่าที่พัก และบุตรบุคลากรที่เงินเดือนยังไม่ถึง 10,000 บาท จ่ายค่าเทอมเพียง 5% ของค่าเล่าเรียนและเปอร์เซ็นต์จะมากขึ้นเมื่อเงินเดือนสูงขึ้น
- การจัดการในห้องเรียน ห้องเรียนแต่ละห้องจะมีนักเรียนเพียงห้องละ 25 คนครูประจำชั้น 2 คน แต่หากเป็นระดับอนุบาลจะมีครูประจำห้องละ 3 คนทำให้ดูแลนักเรียนได้อย่างทั่วถึงอีกทั้งจากการออกแบบอาคารเรียนที่ลงตัวทำให้ครูประจำชั้นแต่ละระดับไม่จำเป็นต้องมีห้องพักครูสามารถทำงานที่หน้าห้องเรียนของนักเรียนได้จึงดูแลนักเรียนได้ดีเมื่อเกิดปัญหา นักเรียนก็เกรงใจครูที่อยู่หน้าห้องเป็นการฝึกวินัยและส่งเสริมการเป็นที่ปรึกษาที่ดีของครูประจำชั้น
- การรับนักเรียนเข้า จะคัดจากการสัมภาษณ์ผู้ปกครองหากผู้ปกครองมีความพร้อมและยินยอมรับเงือนไขของโรงเรียนจึงจะได้รับคัดเลือกทำให้ผู้ปกครองมีความกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วมกับทางโรงเรียนทั้งก่อนและหลังรับเข้า

2.ด้านวิชาการ
จุดเด่นทางด้านวิชาการของโรงเรียนคือมีความพยายามที่จะบูรณาการวิชาต่างๆเข้าด้วยกัน พยายามผลิตผลงานที่เป็นรูปธรรมของนักเรียนและครูและสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือแม้ว่าจะอยู่ในกรุงเทพมหานครแต่มีการนำเอาภูมิปัญญามาใช้ในการจัดการเรียนการสอน
- มีการเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองเข้ามีส่วนร่วมคือผู้ปกครองสามารถลงทะเบียนเรียนในรายวิชาต่างๆที่สนใจได้ วิชาที่ได้รับความสนใจเช่น วาดรูป ดนตรี ภาษา ทั้งนี้หากผู้ปกครองได้ใกล้ชิดนักเรียนจะช่วยทำให้เข้าใจธรรมชาติของนักเรียน ของวัยรุ่นได้ดีขึ้นจะช่วยให้เข้าใจบุตรหลานของตนและเลี้ยงลูกอย่างถูกวิธีมากขึ้
- มีการออกไปทัศนศึกษาอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะจากแหล่งเรียนรู้ชุมชนต่างๆ และมักจะอยู่ในรูปแบบการเข้าไปฝังตัวเพื่อศึกษาในเชิงลึก เช่นไปเรียนรู้ศิลปวัฒนธรร
- ครูมีเทคนิคในการสอนจากการอบรมและศึกษาจากประสบการณ์จริง เช่นเทคนิคในการเรียกสมาธิโดยการนับ การปรบมือ การปิดวาจาคือเมื่อได้ยินคำว่าปิดวาจาเป็นที่รู้กันว่านักเรียนทุกคนต้องเงียบสนิทในทันทีทันได
- มีการเปิดโอกาสให้นักเรียนที่มีความผิดปกติเช่นเด็กสมาธิสั้นเข้าเรียนมีทั้งเรียนร่วมและเรียนแยกจากนักเรียนปกติ
- มีเทคนิคในการเรียนการสอนแต่ละวิชาเช่นวิชาประวัติศาสตร์จะเน้นเรียนออกจากครอบครัวของนักเรียนออกสู่ประวัติศาสตร์ชาติ ศิลปและภาษาไทยเน้นให้เห็นของจริงก่อนจึงสอนว่ามันคืออะไร
- ครูและนักเรียนร่วมกันผลิตสื่อและตำราที่มีการออกแบบกิจกรรมแฝงไว้ในหนังสือต่างๆ ที่โรงเรียนมีฝ่ายผลิตหนังสือทำงานร่วมกับโรงพิมพ์ อีกทั้งโรงเรียนยังมีศูนย์จำหน่ายตำราและผลงานของนักเรียนและครูด้วย
- ทุกๆสิ้นเทอมจะมีโครงการประมวลความรู้ภายใต้ชื่อ โครงการหยดน้ำแห่งความรู้ เป็นนิทรรศการประมวลความรู้ที่ได้เรียนมาอาจนำเสนอในรูปแบบต่างๆเช่นละคร ก็ได้และเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้เข้าร่วมชื่นชมด้วย

3.ด้านการนำคุณธรรมและจริยธรรมมาใช้ในการเรียนการสอน
- โรงเรียนมีส่วนช่วยให้มีแหล่งจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรที่ปลอดสารพิษ โดยในทุกวันอังคารโรงเรียนอนุญาตให้มีการจำหน่ายผักปลอดสารพิษ ไข่ พืชผลทางการเกษตรที่ปลอดสารพิษจากจังหวัดสุพรรณบุรี และแหล่งเพาะปลูกใกล้เคียงมาจำหน่ายในโรงเรียนได้รับความนิยมจากผู้ปกครองมาซื้อหาจำนวนมาก เป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรมีกำลังใจที่จะผลิตสิ่งดีๆสู่สังคมและปลูกฝังให้นักเรียนได้ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมด้วย
- มีการรณรงค์ให้รับประทานอาหารว่างเป็นผลไม้ น้ำผลไม้ เพื่อลดการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
- ชุมนุมจิตอาสาเป็นชุมนุมหลักในการช่วยเหลือสังคม เช่นเมื่อเกิดอุทกภัยหรือภัยพิบัติต่างๆชุมนุมนี้จะรีบออกไปช่วยเหลือทั้งที่เป็นสิ่งของและเข้าไปดูแลโดยตรง ชุมนุมมีเงินทุนสำรองโดยอาศัยการระดมทุนจากการการขอบริจาคสิ่งของของนักเรียนในโรงเรียนคนละ 1 ชิ้นมาทำการประมูลจากนักเรียนและผู้ปกครองทำให้มีเงินทุนสำรองปีละหลายแสนบาท อีกทั้งมีสิ่งของสำรองจากการร่วมทำบุญตักบาตรในกิจกรรมต่างๆที่พระจะมอบให้โรงเรียนต่อเพื่อนำไปเป็นสาธารณประโยชน์ต่อไป
- โครงการแผนที่คนดีเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ส่งเสริมความเข้าใจอันดีและการรู้จักให้เกียรติบุคคลอื่นในสังคม นักเรียนจะนำขันห้าไปขอใครก็ได้ในโรงเรียนที่ไม่ใช่ครูที่สอนตามปกติ เช่นแม่บ้าน คนงาน คนสวน มาเป็นครูของตนและจะใช้เวลาไปคอยช่วยเหลือและเรียนรู้อาชีพนั้นๆเป็นเวลาสองวันวันละสองชั่วโมงต่อเดือน เพื่อเรียนรู้ว่าทุกอาชีพมีความสำคัญ มีคุณค่า
- นักเรียนจะร่วมกันทำอาหารรับประทานเองและในช่วงสอบแอดมิดชั่นรุ่นน้องจะทำอาหารเพื่อรุ่นพี่ด้วยและเมื่อสอบเสร็จรุ่นพี่ก็จะทำอาหารให้รุ่นน้องทาน นักเรียนไม่จำเป็นต้องเสียเวลาในการเตรียมอาหารมีแม่บ้านเตรียมทุกอย่างไว้ให้นักเรียนเป็นผู้ปรุง สร้างประโยชน์ได้หลายอย่างทั้งเป็นการฝึกทักษะในการใช้ชีวิต การทำงานร่วมกับผู้อื่น การเสียสละและสร้างความภูมิใจ

4.ด้านโครงการพิเศษและกิจกรรมเสริมหลักสูตร
โรงเรียนรุ่งอรุณมีการจัดกิจกรรมเสริมในรูปแบบของโครงการอยู่หลายโครงการ มีทั้งโครงการเพื่อส่งเสริมศักยภาพของครู นักเรียน และโครงการเพื่อสังคม มีโครงการที่ดีเด่นอาทิเช่น
โครงการในรูปของโครงงาน
เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเสริมหลักสูตร มุ่งเน้นให้นักเรียนได้คิดค้นและประมวลความคิด โดยเฉพาะโครงการที่แก้ไขปัญหาต่างๆ เช่นเมื่อนักเรียนต้องการสะพานข้ามสระน้ำในโรงเรียนก็คิดค้นโครงงานแพข้ามสระน้ำ โครงงานศึกษาฝนกรดรอบสถานศึกษา เป็นต้น
โครงการของเสียเหลือศูนย์
เป็นโครงการที่ดีเด่นระดับประเทศ และได้รับรางวัลจากมูลนิธิโตโยต้าในด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม มีแนวคิดเรื่องการนำขยะของเสียที่ใช้แล้วมาก่อให้เกิดประโยชน์ เพื่อช่วยลดปริมาณขยะในโรงเรียนและครอบครัวของนักเรียนอันส่งผลต่อปริมาณขยะในสังคมด้วย มีการดำเนินการคล้ายโครงการขยะรีไซเคิลของหลายๆหน่วยงานแต่ว่ามีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมมากกว่าอีกทั้งมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้กลายเป็นกิจวัตรประจำวันของชีวิตนักเรียนและผู้ปกครอง
มีการดำเนินการในช่วงเช้าของแต่ละวันโดยนักเรียนจะนำขยะที่ผ่านการล้างและคัดแยกเบื้องต้นไว้แล้วของแต่ระดับมาทำการแยกย่อยที่โรงขยะกลาง ขยะที่ได้นั้นส่วนหนึ่งนำไปบริจาคเช่น ปฏิทินแข็ง โลหะสำหรับทำขาเทียม ส่วนอีกส่วนหนึ่งมีผู้มารับซื้อต่อ เงินที่เป็นรายได้นั้นจะนำเป็นเงินกองกลางสำหรับทำกิจกรรมของโรงเรียนเช่น การแสดงโขน เป็นต้น

บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน)
เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจ ตามความถูกต้องและความเป็นธรรม โดยยึดถือและปฏิบัติตามอุดมการณ์ในการดำเนินธุรกิจคือ
1. ตั้งมั่นในความเป็นธรรม
2. มุ่งมั่นในความเป็นเลิศ
3. เชื่อมั่นในคุณค่าของคน
4. ถือมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม
จากการศึกษาดูงานบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) บริษัทมีการดำเนินการบริหารจัดการที่ตระหนักต่อความรับผิดชอบต่อสังคมและการจัดทรัพยากรบุคคล มีการเข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นการจัดการความรู้ จะเห็นได้จากมีการจัดกิจกรรมอาทิเช่น
- การเข้าร่วมโครงการ KM ตั้งแต่ปี 2547 อยู่ในเครือข่ายของมหาวิทยาลัย เน้นการสร้างทีมและมีการแต่งตั้งทีมงานรับผิดชอบ
- โครงการ SD Sustainable Development Action Plan 2008 เป็นโครงการที่มุ่งให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และคน ดังที่ Hansei กล่าวไว้ว่าการกระทำสิ่งใดไม่ควรมุ่งแต่ผล ต้องมุ่งเน้นที่กระบวนการด้วย โดยเฉพาะการฝึกอบรมที่มีคุณภาพ
- หลักการทำงานที่ถูกต้องขององค์กรต้องเป็นไม่เป็นองค์กรตามใบสั่ง สมาชิกในองค์กรควรได้มีการนำเสนอความคิดและเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาองค์กร และเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ โดยเฉพาะการเรียนรู้ในรูปแบบของการดำเนินการกลุ่ม สร้างความมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้ ความมุ่งมั่นที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ และสุดท้ายคือการสะท้อนสิ่งที่เรียนรู้ ในส่วนขององค์กรก็ต้องดำเนินการ สร้างแรงบันดาลใจ สะท้อนตนเอง (วิเคราะห์รายบุคคล) และสุดท้ายคือการสร้างความเข้าใจในความแตกต่าง



















เปรียบเทียบกับองค์กรตนเอง เราตัวหนาก็แล้วกัน เน้น ๆ หน่อย

ร.ร. รุ่งอรุณ ร.ร. สาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

การบริหารงาน 

- ใช้การบริหารงานแนวนอนใช้ทั้งองค์กรเป็นผู้วางแผน ผ่านการประชุมระดับสายชั้น ในทุกสัปดาห์ และส่งขึ้นไปสู่ผู้บริหาร
- ใช้การบริหารงานแนวตั้ง กรรมการบริหารเป็นผู้วางแผนงานและนโยบาย และกระจายสู่องค์กร

- มีหน่วยงานสนับสนุนการสอนที่ชัดเจน พอเพียงและทำหน้าที่ตรงตามหน้าที่ตนเอง 
- มีหน่วยงานสนับสนุนการสอนที่ชัดเจน แต่ไม่เพียงพอ

- มีสวัสดิการและส่งเสริมความรู้ความสามารถของบุคลากร ในหลากหลายรูปแบบ อาทิ ส่วนลดค่าเล่าเรียนบุตรบุคลากร หรืออาหารกลางวันฟรี การอบรมสัมมนา
- มีสวัสดิการ และส่งเสริมความรู้ความสามารถบุคลากรหลายรูปแบบ แต่ก็น่าจะเพิ่มให้คล้าย ๆ กัน ...

ด้านอาคารสถานที่และภูมิทัศน์ 
- ถูกออกแบบมาให้ดูปลอดโปร่งสบาย ไม่อึดอัด ไม่มีเครื่องปรับอากาศ แต่เงียบและเป็นธรรมชาติ เหมาะกับการเรียนการสอน 
อาคารสถานที่และภูมิทัศน์ ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เป็นโรงเรียนในเมืองร้อน จึงอาศัยเครื่องปรับอากาศเป็นหลักในหน้าร้อน ต้นไม้ยังไม่เพียงพอ

ด้านวิชาการ
- เครื่องแบบนักเรียนและครู ใส่ตามสบาย แต่ก็มีแบบฟอร์ม เพื่อกรณีไปสอบข้างนอก นักเรียนจึงไม่มีความรู้สึกกดดันเวลาเรียน
- มีเครื่องแบบนักเรียนหลากหลาย

- มีการให้งานนักเรียนส่งผ่าน blog และการผลิตหนังสั้น 
- มีการให้งานนักเรียนส่งผ่าน blog และการผลิตหนังสั้น แต่ยังไม่แพร่หลายนัก 

- เน้นการออกแบบการเรียนการสอนของครู มากกว่าหลักสูตรแกนกลาง
- เน้นเนื้อหาแกนกลาง มากกว่าการออกแบบการเรียนการสอนของครู 

- เน้น องค์กรการเรียนรู้ มากกว่าระบบการศึกษา 
- เน้นสอบเข้ามหาวิทยาลัย มากกว่าองค์กรการเรียนรู้

- การจัดห้องเรียน ห้องละ 25 คน สายชั้นละ 3 ห้อง ช่วงชั้นละ 6 ห้อง และอยู่ช่วงชั้นละตึก 75 คน ไม่แออัด
- การจัดห้องเรียน ห้องละ 40 คน สายชั้นละ 5 ห้อง ช่วงชั้นละ 15 ห้อง และช่วงชั้นละชั้น 600 คน ค่อนข้างแออัด 

- การจัดหลักสูตร แบบเป็น 3 ภาคการศึกษา อิงหลักสูตรแกนกลางของกระทรวง 
- การจัดหลักสูตร แบบเป็น 2 ภาคการศึกษา อิงหลักสูตรแกนกลางของกระทรวง 

บุคลากร เข้าใจระบบการจัดการความรู้ (KM) เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการจัดการศึกษาของโรงเรียน
บุคลากร เข้าใจระบบการจัดการความรู้ (KM) สัดส่วนไม่มากนัก 

- มีการจัดประสบการณ์ให้ผู้เรียนโดยเน้นประสบการณ์ตรง ทัศนศึกษาบ่อยเพื่อสร้างองค์ความรู้ 
- มีการจัดประสบการณ์ให้ผู้เรียนโดยเน้นประสบการณ์ตรง ทัศนศึกษาไม่มากครั้ง 

- การจัดตึกเรียนแบบบ้าน ทำให้นักเรียนมีความรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน รู้สึกผ่อนคลาย 
- การจัดตึกเรียนแบบห้องชุด เพราะมีพื้นที่จำกัด ต้องใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด แต่ก็ใช้เครื่องปรับอากาศสร้างความรู้สึกผ่อนคลาย 

-ในระดับ ม. 6 มีการจัดการติวเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย 
-ในระดับ ม. 6 มีการจัดการติวเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย มากกว่า


     มูลเหตุที่เกิดความแตกต่างของรูปแบบการจัดการโรงเรียน เพราะเป้าหมายโรงเรียนต่างกัน เช่น การมุ่งให้นักเรียนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ในคณะที่ดี เป็นเป้าหมายของโรงเรียนสาธิตฯ ที่ถูกตั้งเงื่อนไขโดยผู้ปกครองแล้ว แต่ในส่วนของโรงเรียนรุ่งอรุณ ผู้ปกครองไม่มีความเครียดในการเข้าศึกษาต่อของนักเรียน เนื่องเพราะ ความพร้อมทางการเงิน และต้องการมุ่งในนักเรียนในปกครองมีความรับผิดชอบและเรียนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี โรงเรียนรุ่งอรุณจึงมีปัจจัยเอื้อต่อการจัดรูปแบบดังกล่าว และพร้อมจะทำโรงเรียนในอุดมคติของผู้ก่อตั้งได้อย่างราบรื่นและอีกสิ่งหนึ่งที่แตกต่างและจำเป็นอย่างยิ่งที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามต้องรีบปรับปรุงโดยเร็ว คือ วิธีการสร้างองค์ความรู้ให้กับนักเรียน โดยใช้รูปแบบที่หลากหลาย เพราะสิ่งนี้ไม่จำเป็นต้องทำโดยเร็ว เพราะหากมีกระบวนการเรียนที่หลากหลายแล้ว ผลประโยชน์ย่อมเกิดกับผู้เรียน จะเติมเต็มสิ่งที่นักเรียนเราขาดให้สมบูรณ์ขึ้น



ข้อเสนอแนะในการแก้ไขความแตกต่าง

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ต้องหันกลับมาเน้นสิ่งเหล่านี้ อันได้แก่
1. คน ซึ่งเป็นแหล่งความรู้และเป็นผู้นำความรู้ไปใช้ประโยชน์ หมายถึงทั้งครู และ นักเรียน
2. เทคโนโลยี ซึ่งเป็นเครื่องมือช่วยในการค้นหา จัดเก็บ แลกเปลี่ยน และนำความรู้ไปใช้ได้อย่างง่ายและรวดเร็วขึ้น โดยนำมาผนวกเข้ากับการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียน และครูสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา เป็นการจัดเก็บความรู้ของครู อีกทางหนึ่ง
3. กระบวนการความรู้ ซึ่งเป็นการบริหารจัดการเพื่อนำความรู้จากแหล่งความรู้ไปยังผู้ใช้ เพื่อทำให้เกิดการปรับปรุง เชื่อมโยง ต่อยอด หรือนวัตกรรมความรู้นั้น ๆ
โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จึงจำเป็นต้องวางแนวทางการพัฒนาองค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนให้มีความเชื่อมโยงและบูรณาการอย่างสมดุล ทั้งนี้ จากการศึกษาดูงานพบว่า โรงเรียนรุ่งอรุณ มีจุดเด่นในการพัฒนาระบบที่ โดยมีปัจจัย สำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จ โดยสรุป ดังนี้
1. การพัฒนาคน เป็นจุดเน้นที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อน ขององค์กร เช่น การส่งไป อบรม การเป็นวิทยากรของกระทรวงศึกษาธิการ
2. การสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ ทั้งสภาพแวดล้อมภูมิทัศน์ และ บรรกาศการทำงานในระดับชั้นที่มีการเสนอแผนการสอนให้ผู้อื่นฟัง และยอมรับฟังซึ่งกันและกันและพร้อมแก้ไขเมื่อมีข้อผิดพลาด นับ เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนา
3. ความมุ่งมั่น จริงจัง ของผู้บริหารโรงเรียน
4.การบริหารงานในองค์กร ที่เริ่มจากจุดเล็ก ๆ ก่อน แล้วจึงขยายวงกว้างขึ้น ไม่อาศัยคำสั่ง แต่บุคลากรทุกคนพร้อมจะทำงานอย่างเต็มความสามารถของตนเอง

        ข้อเสนออีกประการหนึ่งคือโรงเรียน ควรจะจัดให้มีหน่วย KM และจัดตั้งหน่วยงานโครงการตำราและพัฒนาสื่อขึ้นในโรงเรียน เพื่อเป็นการเชื่อมต่อองค์ความรู้และสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้กับหน่วยงาน โดยให้ทั้งองค์กรมีส่วนร่วม จะเป็นผลดีต่อการพัฒนาโรงเรียนมากขึ้น

No comments: